เต่าร้างแดง ๑

Caryota mitis Lour.

ชื่ออื่น ๆ
เขืองหมู่ (เหนือ); งือเด็ง (มลายู-นราธิวาส); เต่าร้าง (ทั่วไป); มะเด็ง (ยะลา)
ปาล์มขึ้นเป็นกอขนาดกลาง อาจมีรอยแผลของกาบใบเป็นแนวขวางตามลำต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมคล้ายหางปลา ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ กาบใบมักติดทนถึงโคนต้น มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงกระจายทั่วไป ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มี ๔-๗ ช่อ ออกตามซอกใบ ปลายห้อยลง ก้านช่อแขนงย่อยมักบวมป่องที่โคน ดอกเพศผู้สีม่วงถึงสีน้ำตาลอมแดง ดอกเพศเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้ ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีแดงถึงสีดำอมม่วง ผิวเรียบ มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

เต่าร้างแดงชนิดนี้เป็นปาล์มขึ้นเป็นกอ สูงได้ถึง ๑๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๘-๒๐ ซม. อาจมีรอยแผลของกาบใบเป็นแนวขวางตามลำต้น รอยแผลห่างกัน ๓๐-๔๐ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ยาว ๑.๗-๔.๖ ม. แต่ละต้นมีใบประกอบ ๕-๑๒ ใบ แต่ละใบประกอบมีช่อใบข้างละ ๑๐-๓๐ ช่อ เรียงสลับ ยาว ๐.๗-๑.๕ ม. แต่ละช่อใบมีใบย่อยข้างละ ๖-๒๐ ใบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมคล้ายหางปลา กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๕ ซม. ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ โคนสอบเรียวถึงเบี้ยว เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน มีเส้นจากโคนใบจำนวนมาก ก้านใบยาว ๐.๒-๑.๖ ม. แข็ง เป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง กาบใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๕-๑.๒ ม. มักติดทนถึงโคนต้น มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงกระจายทั่วไป ขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มี ๔-๗ ช่อ ออกตามซอกใบ ยาว ๔๐-๙๐ ซม. ปลายห้อยลง แต่ละช่อมีช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด ๑๑๐-๑๕๐ ช่อ ยาว ๒๕-๓๐ ซม. ปลายห้อยลง มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงกระจายทั่วไป ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนแล้วต้นตาย ก้านช่อดอกยาว ๒๕-๔๐ ซม. ก้านช่อแขนงย่อยมักบวมป่องที่โคน ใบประดับขนาดใหญ่มีได้ถึง ๘ ใบ ติดทน ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้สีม่วงถึงสีน้ำตาลอมแดง ยาวได้ถึง ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปกลม กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. หนา เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบดอกยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๒-๒๔ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปแถบ แตกตามแนวยาว ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้ ยาวได้ถึง ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก หนา เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบดอกยาว ๔-๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด


ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงจดกันในดอกตูม ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน หรืออาจมีได้ถึง ๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมหรือรูปทรงสามเหลี่ยม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. สุกสีแดงถึงสีดำอมม่วง ผิวเรียบ มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีผลึกรูปเข็มที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 เต่าร้างแดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ยอดอ่อนและแกนกลางลำต้นนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต่าร้างแดง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caryota mitis Lour.
ชื่อสกุล
Caryota
คำระบุชนิด
mitis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
เขืองหมู่ (เหนือ); งือเด็ง (มลายู-นราธิวาส); เต่าร้าง (ทั่วไป); มะเด็ง (ยะลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง